Apple ได้เริ่มให้บริการซ่อมมือถือแบบ DIY แล้วในสหรัฐ ฯ โดยบริการดังกล่าวคือการวางจำหน่ายชิ้นส่วนอะไหล่ของ iPhone 12, iPhone 13 และ iPhone SE รุ่นล่าสุด ให้ลูกค้าสามารถซ่อมอุปกรณ์ของตัวเองได้

ทั้งนี้ในปัจจุบันบริการดังกล่าวยังมีแค่ในสหรัฐ ฯ เท่านั้น โดยทาง Apple มีแผนจะขยายพื้นที่การให้บริการดังกล่าวไปยังประเทศอื่น ๆ รวมทั้งขยายขอบเขตของอุปกรณ์ที่เข้าร่วมบริการนี้อย่างเช่น Mac รุ่น M1 ในอนาคต

สำหรับอะไหล่ของมือถือจะถูกวางขายในร้าน Self Service Repair Store ของ Apple ส่วนเครื่องมือสำหรับซ่อมนั้น Apple จะให้เช่าเป็นเวลา 7 วันในมูลค่า 49$ (ประมาณ1,700บาท) สำหรับลูกค้าที่ไม่ต้องการซื้อเครื่องมือสำหรับซ่อมแบบครั้งเดียวจบ

สำหรับสาเหตุที่ Apple เปิดตัวบริการดังกล่าวส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะว่า ในอดีตที่ Apple ยังไม่จำหน่ายอะไหล่สำหรับซ่อมมือถือ ผู้ใช้งานมักจะหันไปหาอะไหล่จากผู้ผลิตทางเลือกแทน ซึ่งในหลายครั้งการใช้อะไหล่เหล่านั้นทำให้การทำงานของมือถือมีปัญหา บริการซ่อมมือถือด้วยตัวเองของ Apple จึงมุ่งหวังแก้ปัญหาดังกล่าว

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ Apple ออกมาเตือนผู้ใช้งานว่าการซ่อมมือถือแบบ DIY โดยบุคคลที่ไม่มีความเชี่ยวชาญนั้นอาจเกิดปัญหาได้ และสนับสนุนให้ลูกค้านำมือถือไปซ่อมกับช่างผู้เชี่ยวชาญ แต่ดูเหมือนว่าลูกค้าบางกลุ่มจะยังคงหาทางซ่อมมือถือด้วยตนเองอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้ในปัจจุบันทาง Apple จึงจัดทำคู่มือเกี่ยวกับการซ่อมให้ลูกค้าได้ดูก่อนตัดสินใจซื้ออะไหล่

Apple ระบุว่าจะวางขายอะไหล่ให้แก่ลูกค้าในราคาเดียวกับที่ขายให้แก่ช่างซ่อมที่ได้รับอนุญาต นอกจากนั้นในบางกรณีหากลูกค้านำชิ้นส่วนอันเก่ามารีไซเคิลกับทาง Apple ก็สามารถรับเครดิตส่วนลดสำหรับใช้กับอะไหล่ที่จะซื้อได้ เช่น แบตเตอรี่ของ iPhone 12 และ 13 มีราคาอยู่ที่ราว 2,400 บาท หากนำชิ้นส่วนเก่ามาแลกจะได้รับเครดิตส่วนลดราว 800 บาท ส่วนหน้าจอที่มีราคาอยู่ในช่วงประมาณ 7,700 – 10,700 บาท มีเครดิตส่วนลดอยู่ที่ราว 1,200 บาท

เป็นที่น่าสังเกตว่าบริการซ่อมมือถือแบบ DIY ของ Apple นั้นถูกเปิดตัวมาท่ามกลางกระแส DIY ของแบรนด์สมาร์ตโฟนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Google และ Samsung หรือแม้กระทั่งในอุปกรณ์อื่น ๆ อย่าง Steam Deck ทาง Valve ก็กำลังจัดทำบริการในลักษณะเดียวกันด้วย

อย่างไรก็ตามหนึ่งในปัจจัยที่เอื้อให้เกิดบริการซ่อมแบบ DIY นั้นมาจากทั้งนักเคลื่อนไหวและหน่วยงานกำกับดูแล ที่กดดันให้ผู้ผลิตสมาร์ตโฟนออกแบบผลิตภัณฑ์ของตนเองให้ง่ายต่อการซ่อม เพื่อยืดเวลาการใช้งานให้นานที่สุดก่อนที่จะกลายเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์

SOURCE

Comments กันได้เลย !

Comments

0 Shares